top of page

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ "ผู้ทำบัญชี"

Accountant

ผู้ทำบัญชี หมายถึง ผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
ไม่ว่าจะกระทำในฐานะลูกจ้างของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือไม่ก็ตาม

ผู้ทำบัญชีมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ดังนี้

  1. จัดทำบัญชีให้เป็นไปตามความจริง ตามมาตรฐานบัญชี โดยมีเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน

  2. ลงรายการในบัญชีเป็นภาษาไทย  หากลงรายการเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับหรือลงรายการเป็นรหัสบัญชีให้มีคู่มือคำแปลรหัสบัญชีที่เป็นภาษาไทย

  3. เขียนด้วยหมึก ดีดพิมพ์ หรือตีพิมพ์  หรือทำด้วยวิธีอื่นใดที่ได้ผลทำนองเดียวกัน

  4.  ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งกำหนดโดยสภาวิชาชีพ

ผู้ทำบัญชี

ผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะเป็นลูกจ้างของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือไม่ก็ตาม

พนักงานของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี

ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี

สมุห์บัญชี

หัวหน้าแผนกบัญชี

ผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออื่น มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกัน

ผู้ให้บริการรับทำบัญชี

สำนักงานบริการ
รับทำบัญชี

ผู้รับจ้าง
ทำบัญชีอิสระ

คุณสมบัติของการเป็นผู้ทำบัญชี

1. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

2. มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ทำบัญชีได้

3. มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะประกอบวิชาชีพเป็นผู้ทำบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี นั่นคือ  ผู้ประกอบวิชาชีพเป็นผู้ทำบัญชีได้  จะต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี  หรือได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี

4. ไม่เคยต้องโทษจำคุก  เนื่องจากการกระทำผิดตามฐานความผิดหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา  39 (3) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 เว้นแต่พ้นโทษระยะเวลาที่ถูกลงโทษมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี

5. ผู้ทำบัญชีต้องมีวุฒิการศึกษา ตามขนาดธุรกิจที่กำหนดไว้ดังนี้

           5.1 ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่ง ณ วันปิดบัญชีในรอบบัญชีที่ผ่านมามีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และสินทรัพย์รวมกันไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมกันไม่เกิน 30 ล้านบาท (ทั้ง 3 รายการต้องไม่เกิน)

                      ผู้ทำบัญชี ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า จากสถาบันการศึกษาซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือกระทรวงศึกษาธิการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชี

           5.2 ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีดังต่อไปนี้

                      5.2.1 ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่ง ณ วันปิดบัญชีในรอบบัญชีที่ผ่านมา มีทุนจดทะเบียน หรือสินทรัพย์รวม หรือรายได้รวม รายการใดรายการหนึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้

                      5.2.2 บริษัทมหาชนจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

                      5.2.3 นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

                      5.2.4 กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร

                      5.2.5 ผู้ประกอบธุรกิจธนาคาร เงินทุน หลักทรัพย์ เครดิตฟองซิเอร์ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย

                      5.2.6 ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

                      ผู้ทำบัญชี ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่า หรือได้รับประกาศนียบัตรหรือคุณวุฒิอื่นที่เทียบเท่าปริญญาตรีสาขาบัญชีที่สภาวิชาชีพรับรอง

           5.3 บุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียน ซึ่งรัฐมนตรีประกาศให้เป็นผู้ที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี

                      ผู้ทำบัญชี บุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียน จะเป็นผู้ทำบัญชีสำหรับกิจการของตนเองก็สามารถทำได้ แต่หากมอบให้ผู้อื่นทำบัญชีคุณวุฒิของผู้ทำบัญชีให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้

            5.4 สถานที่ประกอบธุรกิจเป็นประจำ

                      ผู้ทำบัญชี ต้องมีคุณวุฒิเช่นเดียวกับผู้ทำบัญชีของสำนักงานใหญ่

           5.5 ในกรณีที่เป็นการเริ่มทำบัญชีรอบบัญชีแรกของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี คุณวุฒิการศึกษาของผู้ทำบัญชีให้พิจารณาโดยใช้เกณฑ์ทุนจดทะเบียนตามที่กำหนดไว้

           5.6 ในกรณีที่ทุนจดทะเบียน สินทรัพย์รวม หรือรายได้รวม (รายการหนึ่ง หรือทุกรายการ) ของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามข้อ 5.1 เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ผู้ทำบัญชี ของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ไม่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้ทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีนั้นให้ผู้นั้นสามารถเป็นผู้ทำบัญชีต่อไปได้เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันสิ้นรอบบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลง

           

         

เงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี

1. ต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีหรือขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2557

2. แจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการทำชี้ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) ดังต่อไปนี้

             2.1 แจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีพร้อมด้วยหลักฐานตามที่ระบุไว้ใน ส.บช.5 (แบบสมัครสมาชิก/ขึ้นทะเบียนสภาวิชาชีพบัญชี และแบบแจ้งการทำบัญชีของผู้ทำบัญชี) นับตั้งแต่วันเริ่มทำบัญชี

              2.2  กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการที่แจ้งไว้แล้ว หรือยกเลิกการเป็นผู้ทำบัญชีต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) พร้อมด้วยสำเนาหลักฐานภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก โดยใช้แบบ ส.บช.6 (แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ทำบัญชี) หรือ ส.บช.8 (แบบขอยกเลิกการเป็นผู้ทำบัญชี) แล้วแต่กรณี

              2.3 ผู้ทำบัญชีต้องยืนยันรายชื่อผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่รับทำบัญชี และสถานภาพการเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีหรือขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) พร้อมด้วยสำเนาหลักฐานภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันสิ้นปีปฏิทินของทุกปีปฏิทิน โดยใช้แบบ ส.บช.10 (แบบแจ้งการยืนยันรายชื่อผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่รับทำบัญชี

3. ต้องเข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางบัญชี ดังนี้

              3.1 ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อปีปฏิทิน เว้นแต่ผู้ทำบัญชีที่แจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีสำหรับปีแรกและมีระยะเวลาที่เหลือหลังจากการแจ้งในปีนั้นน้อยกว่า 6 เดือน ให้เริ่มพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางบัญชีในปีถัดไป

              3.2 จำนวนชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางทางวิชาชีพบัญชีตามข้อ 3.1 ต้องมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการบัญชีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งและเนื้อหาด้านอื่น ตามที่สภาวิชาชีพประกาศกำหนด

              3.3 การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางบัญชี ได้แก่ การเข้าร่วมกิจกรรม ดังต่อไปนี้

                         3.3.1 การอบรมหรือสัมมนา ทั้งนี้ รวมถึงการอบรมหรือสัมมนาในรูปแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning)

                         3.3.2 การเป็นวิทยากร ผู้บรรยาย ผู้ดำเนินการสัมมนา ในกิจกรรมตามข้อ 3.3.1

                         3.3.3 การเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาของรัฐหรือ สถาบันทางการศึกษาของเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งมีการสอนไม่ต่ำกว่าระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า ไม่ว่าจะเป็นการสอนในฐานะอาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษ

                         3.3.4 การสำเร็จการศึกษาในคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีไม่ว่าคุณวุฒิไม่นั้นจะสูงกว่าคุณวุฒิเดิมหรือ ไม่ก็ตาม

                         3.3.5  การผ่านการศึกษาเฉพาะรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชีจากสถาบันการศึกษาของรัฐหรือสถาบันการศึกษาของเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งมีการสอนไม่ต่ำกว่าระดับอนุปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชีหรือเทียบเท่า

                         3.3.6 กิจกรรมอื่น นอกเหนือจากที่ระบุตามข้อข้างต้น ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนด

4. แจ้งรายละเอียดการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องวิชาชีพบัญชีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th)  ได้ทันทีหลังการทำกิจกรรมแต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของทุกปีปฏิทิน โดยใช้แบบ ส.บช.7 (แบบแจ้งการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชีของผู้ทำบัญชี) และต้องเก็บหลักฐานการเข้าร่วมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันสิ้นงวดของการทำกิจกรรมในแต่ละครั้ง

5. ผู้ทำบัญชีได้ไม่เข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี หรือเข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชีไม่ครบกำหนดตามข้อ 3 แม้ว่าถูกเปรียบเทียบตามกฎหมายแล้วยังต้องพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชีให้ครบจำนวนชั่วโมงตามระยะเวลาที่ขาดหายไป แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ไม่นับรวจำนวนชั่วโมงในปัจจุบัน

6. ผู้ทำบัญชีได้ยกเลิกการเป็นผู้ทำบัญชีแล้ว และขอกลับมาเป็นผู้ทำบัญชีไม่ต้องเข้ารับการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี ให้ครบจำนวนชั่วโมงตามระยะเวลาที่ขาดหายไปก่อนการยกเลิกการเป็นผู้ทำบัญชี แต่เมื่อรวมกันไม่เกิน 24 ชั่วโมง และแจ้งการขอกลับมาเป็นผู้ทำบัญชีใหม่ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) โดยใช้แบบ ส.บช.9 (แบบแจ้งขอกลับมาเป็นผู้ทำบัญชี)

7. ผู้ทำบัญชีสามารถรับทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีได้ไม่เกิน 100 รายต่อปีปฏิทิน ไม่ว่าจะเป็นการรับทำบัญชีในรอบปีบัญชีใดก็ตาม

8. ให้ข้อกำหนดตามข้อ 3 และ 7 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558

bottom of page